การพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจไมโครอย่างยั่งยืน

Micro หมายถึง กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือธุรกิจไมโคร ที่ธนาคารไทยเครดิต ให้การส่งเสริมและสนับสนุน Economic หมายถึง ธนาคารไทยเครดิต มุ่งมั่นสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถเติบโตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการและสังคมไทย Development หมายถึง ธนาคารไทยเครดิต มุ่งมั่นพัฒนาแบบบูรณาการ ทั้งการส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงิน ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจไมโครสามารถดำเนินธุรกิจและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมไปถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้ง 3 ด้าน ตามหลักการการธนาคารเพื่อความอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking) ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจไมโครอย่างยั่งยืน ธนาคารไทยเครดิต  จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งโครงการที่หลากหลายและครอบคลุมการสนับสนุนทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ความรู้และกิจกรรมในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างบูรณาการ กิจกรรมเพื่อสังคม การวิเคราะห์และวิจัยทางเศรษฐกิจไมโคร ที่จะช่วยส่งเสริมและตอบโจทย์แก่ผู้ประกอบการรายย่อย เยาวชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในกลุ่มธุรกิจไมโคร พร้อมทั้งเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจดังกล่าวที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ธนาคารไม่เพียงแต่สนับสนุนบริการทางการเงิน แต่ยังผลักดันให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ได้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามปรัชญาของธนาคารที่ว่า “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ”

ความรับผิดชอบต่อสังคม

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์และโปร่งใส ทั้งยังตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ธนาคารจึงมุ่งมั่น ดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) เพื่อสร้างรากฐานและการเติบโตเชิงพาณิชย์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในสังคมในระยะยาว ตลอดจนสร้างมูลค่า ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งธนาคารไทยเครดิต  ยึดมั่นตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจของธนาคาร อีกทั้งการดำเนินงานของธนาคารฯ ยังยึดมั่นในการบริหารจัดการที่มี ความรับผิดชอบต่อสังคม 3 มิติ คือ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านธรรมาภิบาล (ESG)

ด้านสังคม (Social)

ธนาคารฯ ดำเนินกิจการภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจที่ยึดมั่นและอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดย่อม ให้สามารถเริ่มต้นและต่อยอดธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

ธนาคารฯ มีการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แก่เยาวชน ในการดำเนินโครงการ คิดเพื่อน้อง บ่มเพาะลูกไม้ใต้ต้น เป็นโครงการประกวดเรียงความ เพื่อชิงทุนการศึกษา ในหัวข้อ “ตลาดชุมชนสีเขียว”

ด้านธรรมาภิบาล (Governance)

ธนาคารฯ กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ในการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินและบรรเทาปัญหา ต่าง ๆ โดยมีแนวทาง 4 ข้อ คือ

  1. การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
  2. การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
  3. การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน
  4. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสประกอบการให้สินเชื่อ

อีกทั้งธนาคารฯ ยังร่วมเป็นสมาชิกองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยธนาคารฯ ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์และโปร่งใส เพื่อช่วยสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม ภายใต้แนวคิด “ทุกคนคือคนสำคัญ” ของธนาคาร

  • มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
  • ร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในด้านการ ให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
  • รณรงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดโครงการประกวดไอเดียสร้างสรรค์
  • รณรงค์ให้พนักงานในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ คุณค่าสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น (Go green office)

  • ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศ ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ให้ประชาชนทุกคน ทุกอาชีพได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน
  • ส่งเสริมความรู้ทางการเงินกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงและเรียนรู้เรื่องการเงิน
  • ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อย่างแท้จริง

  • สร้างสรรค์เทคโนโลยีทางการเงินสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง
  • ริเริ่มการพัฒนาแพลตฟอร์มการธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ
  • ผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
  • การให้บริการทางการเงิน ที่อำนวยความสะดวกเรื่อง การชำระเงินแก่ลูกค้า

ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ สามารถต่อยอดธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคง และยั่งยืน 
ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมทั้งการจ้างงานที่เป็นธรรมและปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม มีสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐาน เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานทุกคน

  • นโยบายและเงื่อนไขผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่ง เงินทุนในระบบ ให้สามารถขอสินเชื่อในระบบได้อย่างถูกต้อง
  • วัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมองค์กร
  • กิจกรรม และแผนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

ให้ความรู้เพื่อสร้างเสริมวินัยทางการเงินที่ดี และเสริมความรู้ด้านการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แก่ผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้และมีทักษะในการประกอบอาชีพ

  • ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy programs)
  • ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา (Scholarship)
  • ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Learning center)

ส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

  • ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างเข้าถึงและเท่าเทียม
  • นโยบาย และเงื่อนไขผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นธรรม และ ตอบโจทย์ต่อความต้องการของลูกค้า

ธนาคารไทยเครดิต

คว้ารางวัล Leading of ESG ด้าน Social Product จากเวที Future Trends Awards 2025

ธนาคารไทยเครดิต

ได้รับรางวัล "Sustainability Award" จากสำนักงาน ก.ล.ต.

ธนาคารไทยเครดิต

คว้ารางวัล CSR Award 2024 จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ธนาคารไทยเครดิต

รับรางวัลเกียรติคุณ โครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน

ธนาคารไทยเครดิต

คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน

01 /

กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจไมโครและเพื่อสังคม

โครงการตังค์โต Know-how

โครงการตังค์โต Know-How เป็นโครงการจัดอบรมความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมการให้ความรู้ พัฒนา และเสริมทักษะทางการเงิน ดำเนินโครงการโดยธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน เพื่อจัดอบรมให้แก่ลูกค้าธนาคารฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย เจ้าของกิจการขนาดเล็ก รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ต่อมาได้ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าอบรมไปสู่พนักงานออฟฟิศ นิสิต นักศึกษา นักเรียน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ สมาชิกชุมชนในต่างจังหวัดและเกษตรกร โดยเน้นการวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ และส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง มุ่งมั่นในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคมให้ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักปรัชญาการดำเนินงานของธนาคารฯ “Everyone Matters” ทุกคนคือคนสำคัญ

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยเครดิตฯ ถ่ายทอดความรู้ทางการเงินไปแล้วกว่า 4,976 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 240,338 คน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ของสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยของธนาคารฯ ทางออนไลน์ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย Facebook, YouTube และ TikTok ในชื่อ “ตังค์โต Know-how” รวมทั้งจัดอบรมโดยวิทยากรส่วนกลางที่ลงพื้นที่อบรมทั่วประเทศ เน้นการวางแผนทางการเงินเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารสำหรับธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเนื้อหาหลักสูตรการอบรมได้รับการออกแบบร่วมกันระหว่างธนาคารไทยเครดิตฯ และคณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และรับรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายแขนง


นโยบายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน และสังคม
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีนโยบายในการพัฒนาชุมชนและสังคมผ่านโครงการ "ตังค์โต Know-How" ซึ่งส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและเสริมสร้างทักษะการวางแผนทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าหลักของธนาคารฯ ได้แก่ ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี รวมถึงขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆในชุมชนและสังคม เช่น พนักงานบริษัท นักเรียน นิสิต นักศึกษา เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เป็นต้น

ธนาคารฯ ตระหนักดีว่า การส่งเสริมความสามารถในการวางแผนและบริหารการเงินให้กับกลุ่มลูกค้าและบุคคลทั่วไป จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใกล้เคียง สอดคล้องกับหลักปรัชญาการดำเนินงานของธนาคารฯ "Everyone Matters" ทุกคนคือคนสำคัญ นโยบายดังกล่าวนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนของธนาคารฯ

นโยบายและแผนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนและสังคม ของธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย:

1. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

  • ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย สินเชื่อเพื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ OTOP เป็นต้น
  • พัฒนาความรู้และทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านโครงการ "ตังค์โต Know-how" ที่จัดอบรมฟรีทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเงิน การวางแผนทางการเงิน และการต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจของธนาคาร
  • สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ การสร้างรายได้ และการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

2. ด้านการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  • ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนพัฒนาทักษะอาชีพแก่เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส ผ่านมูลนิธิไทยเครดิตที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมทางสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
  • ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในโครงการ "ตังค์โต Know-how เดอะติวเตอร์" ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษเพื่อพัฒนาความรู้ทางการเงินให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา
  • ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ระหว่างกันของคนในสังคม ผ่านการจัดสัมมนา, Workshop และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ 

3. ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • บริหารจัดการองค์กรโดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามหลัก ESG เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาล การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และการลงทุนที่ยั่งยืน
  • สร้างความตระหนักรู้ด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมแก่พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การรณรงค์ลดใช้ขวดพลาสติก การจัดกิจกรรมปลูกป่า และการรณรงค์เรื่องขยะรีไซเคิล เป็นต้น

ด้านการประเมินผลโครงการและการติดตามความก้าวหน้า ธนาคารจะ :

  • วัดความสำเร็จของโครงการต่างๆ ด้วย KPIs ที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs ของ UN ใน 6 ด้าน คือ ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่, การศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน, ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ, การจ้างงานที่มีคุณค่า และการเติบโต ทางเศรษฐกิจ, อุตสาหกรรม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน, การรับมือการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ
  • สื่อสารแผนงานสู่พนักงานทุกระดับ สร้างการมีส่วนร่วมและพันธสัญญาร่วมกันของทุกฝ่าย
  • รายงานผลลัพธ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตรวจสอบได้ เช่น จำนวนผู้ได้รับความรู้ด้านการเงิน การลดใช้กระดาษ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง เป็นต้น

กลยุทธ์ แผนงานและเป้าหมาย
ธนาคารฯ ได้วางแผนพัฒนาขยายขอบเขตโครงการ "ตังค์โต Know-How" ทั้งในแง่เนื้อหาและช่องทางการเข้าถึง ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการวางแผนการเงินที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการจัดอบรมในรูปแบบต่างๆ มีกลยุทธ์และแผนงานดังนี้

  • พัฒนาหลักสูตรเนื้อหาความรู้ด้านการเงินร่วมกับคณะบัญชีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ทันสมัยเหมาะสมกับยุคสมัยอยู่เสมอ
  • ขยายกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในชุมชนห่างไกล เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ เกิดทักษะทางการเงินที่จำเป็น
  • เพิ่มจำนวนผู้เข้าอบรมผ่านช่องทางออฟไลน์และดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • มุ่งเน้นการสร้างวิทยากรภายในที่มีคุณภาพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างมืออาชีพ ผ่านการจัดอบรมหลักสูตร "วิทยากรมืออาชีพ"
  • สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
  • ติดตามประเมินผลโครงการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาแผนงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • วางแผนขยายโครงการสู่การเสริมสร้างอาชีพหรือทักษะด้านอื่นๆที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมรายได้ของประชาชนในระยะยาว

เป้าหมาย

  • ในปี 2568 นี้ ธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้เข้าอบรม 66,000 คน โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าอบรมให้ได้อย่างน้อยปีละ 10% และตั้งเป้าหมายคะแนนความพึงพอใจและการแนะนำบอกต่อไม่ต่ำกว่า 80% (ระดับดีเยี่ยม) 
  • นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมุ่งเน้นเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อยของธนาคารฯ มีวินัยทางการเงินและมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี โดยสามารถรักษาระดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน (credit) ของตนเองให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% ด้วย ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพและความมั่นคงทางการเงินของลูกค้าธนาคารฯ ในระยะยาว

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารฯ มีทั้งพันธมิตรเครือข่ายที่แข็งแกร่ง มีเป้าหมายชัดเจน และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่ท้าทาย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการ "ตังค์โต Know-How" จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและสามารถเผยแพร่ความรู้ พัฒนาทักษะทางการเงินที่จำเป็นให้กับคนไทยได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

เครือข่ายพันธมิตร

ธนาคารไทยเครดิตฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในปีที่ 9 นี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกรมการพัฒนาชุมชน ผู้นำกลุ่ม และองค์กรเครือข่ายภายใต้การดูแล ให้มีความรู้และทักษะด้านการบริหารการเงินและการจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ นับเป็นการสร้างความภาคภูมิใจและแสดงศักยภาพของธนาคารฯ ที่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐ

การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนจากภายใน จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ธนาคารฯ เชื่อมั่นว่าโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินนี้จะทำให้ชุมชนมีภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว สอดคล้องกับเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึงให้แก่ทุกคน

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งมูลนิธิไทยเครดิตขึ้นเมื่อปี 2565 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ศิลปวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการต่อยอดและสร้างผลลัพธ์เชิงบวกจากพันธกิจด้านความยั่งยืนตามนโยบาย ESG ของธนาคาร การประสานความร่วมมือกันระหว่างธนาคารและมูลนิธิ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาให้ครอบคลุมได้มากขึ้น โดยมีเป้าประสงค์หลักคือ การทำให้สังคมและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เราเชื่อว่าการ "เสริมพลัง" (EMpower) เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ และก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างความร่วมมือที่สะท้อนแนวคิดการเสริมพลังนี้ เช่น การสร้างชุมชนต้นแบบที่เข้มแข็งตามแนวคิด BCG Economy การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น OTOP การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ มูลนิธิยังศึกษาผลกระทบทางสังคมในพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อวางแผนยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนแบบองค์รวม ทั้งการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ พัฒนาทักษะ เสริมโอกาสการเรียนรู้ ยกระดับผู้ประกอบการ โดยผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

ความร่วมมือนี้ยังช่วยปลูกจิตสำนึกการทำความดีเพื่อสังคมให้แก่พนักงานของธนาคารผ่านการเป็นจิตอาสาในโครงการต่างๆ อีกด้วย การทำงานแบบบูรณาการนี้ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนและสังคม

ลิ้งก์ เว็บไซต์มูลนิธิไทยเครดิต
https://www.thaicreditfoundation.org/