การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว“K”ของเศรษฐกิจไทย

วิกฤติโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจของบางประเทศก็กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว บางประเทศก็ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ประเทศไทยของเรานั้นกำลังเผชิญหน้ากับ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว “K” ซึ่งการโยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับตัวอักษรภาษาอังกฤษได้มีมานานแล้ว โดยนักเศรษฐศาสตร์ เช่น


การฟื้นตัวแบบรูปตัว V หรือ “V-Shaped” ที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดได้ค่อนข้างเร็วและแรง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมในปีนี้เป็นแบบนี้


การฟื้นตัวแบบรูปตัว U หรือ “U-Shaped” ที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่ต่อเนื่องสักระยะแล้วค่อยฟื้นตัว


การฟื้นตัวแบบรูปตัว W หรือ “W-Shaped” ที่ฟื้นชั่วคราวแล้วตกกลับลงไปอีก ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง (เศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง หรือ Double-Dip Recession)


การฟื้นตัวแบบรูปตัว L หรือ “L-Shaped”  ที่เศรษฐกิจย่ำแย่และใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน
และนอกจาก 4 รูปแบบข้างต้นแล้ว ยังมีวัฏจักรของเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวและกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ รูปแบบของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “K-Shaped” ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทย



การฟื้นตัวแบบรูปตัว K ซึ่งเพิ่งมาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นการมองในรูปขององค์ประกอบย่อย หลักๆ คือนักเศรษฐศาสตร์มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสองกลุ่มที่ไม่ไปด้วยกัน โดยกลุ่มหนึ่งฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ฟื้น หรือกระทั่งย่ำแย่ลงต่อเนื่อง เหมือนกับเส้นทแยงมุมของตัวอักษร K ที่มีทั้งชี้ขึ้นและชี้ลง


ขาขึ้น = ฟื้นตัว
มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 13.1 ซึ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการส่งออกของประเทศไทยนั้นได้รับผลบวกจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 โดยเฉพาะคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดย ภาคธุรกิจส่งออกที่เติบโตได้ดี ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์, ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์, แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน, ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา


ขาลง =ไม่ฟื้นตัว
ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยืดเยื้อจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และคาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวจะกลับไปเป็นปกติ และในประเทศอุตสาหกรรมหลักมักใช้การฟื้นตัวแบบรูปตัว K บรรยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า สำหรับคนรวยเศรษฐกิจฟื้นแล้ว แต่สำหรับคนจนวิกฤตครั้งนี้ยังอีกยาวไกล และทำให้จนลงไปอีก ซึ่งกรณีประเทศไทยมิตินี้ก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกัน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง โดยเมื่อต้นปีธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน

     สรุปสภาพเศรษฐกิจของไทยที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้มีทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้ว และกำลังเติบโตไปได้ดี อย่างเช่น ภาคการส่งออก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีบางธุรกิจที่ยังย่ำแย่และไม่รู้ว่าสายป่านของธุรกิจจะยาวไปได้อีกนานแค่ไหน เช่น ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว หากการลากหางของตัว K ยาวออกไปเรื่อย ๆ ยิ่งลากยาวเท่าไร หางทั้ง 2 ข้างจะค่อยๆ ถ่าง และยาวออกไปมากเท่านั้น นั่นหมายถึง คนที่ฟื้นตัวหรือเติบโต ก็จะยิ่งเติบโตได้เรื่อยๆ และ คนที่ย่ำแย่ก็จะย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน และปัญหาที่จะตามมาก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะยิ่งมีมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมาในที่สุด...

ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :   https://thestandard.co/thailand-k-shaped-recovery/
https://www.blockdit.com/posts/60ba1b4c4326ae2ff900e76
เรียบเรียง : Thai Credit Micro Economic Development
#ตังค์โต Know-how