สอนลูกอย่างไรให้มีวินัยทางการเงิน
ในยุคปัจจุบันที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเรา ได้ง่ายขึ้นก็คือ “การมีวินัยทางการเงินที่ดี” และการฝึกวินัยทางการเงินที่ดีนี้ ควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น เราจึงควรฝึกให้กับเด็กๆ หรือลูกน้อยของเรา เพื่อให้เขาเข้าใจถึงการเก็บออม และเสริมสร้างนิสัยให้เขาเป็นคนที่เห็นถึงคุณค่าของเงิน รู้จักมีเหตุผลในการใช้จ่ายอยู่เสมอ วันนี้เรามีเทคนิคดี ๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปช่วยฝึกสอนให้ลูกน้อยของเรารู้จักการวางแผนการใช้เงินได้ตั้งแต่วัยเยาว์
1. ตัวอย่างที่ดีเริ่มที่พ่อและแม่ ก่อนที่จะฝึกลูกของเราให้มีวินัย พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขาก่อน เมื่อลูกเห็นสิ่งที่พ่อแม่ทำเป็นประจำก็จะเกิดการซึมซับ และสร้างนิสัยให้กับตัวเขาเองโดยไม่รู้ตัว เช่น การออมเงิน คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำกิจกรรมภายในครอบครัว พร้อมกับแข่งขันออมเงินไปพร้อม ๆ กัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกสนุกสนานกับการออมเงินเพิ่มมากขึ้น และเป็นวิธีการสร้างวินัยตั้งแต่ยังเด็กอีกด้วย
2. ให้เหตุผลเมื่อไม่ซื้อสิ่งของให้ เมื่อเวลาที่ลูกอยากได้สิ่งของแต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ซื้อให้ เราควรที่จะให้เหตุผลในการบอกปฏิเสธ เมื่อไม่ซื้อสิ่งของต่างๆ ให้แก่ลูกด้วยทุกครั้ง เพราะหากเราไม่อธิบายเหตุผล จะยิ่งทำให้ลูกงอแง ไม่เข้าใจ และเกิดนิสัยก้าวร้าวในที่สุด ในทางกลับกันเมื่อเราค่อยๆ อธิบายเหตุผลถึงความจำเป็นกับเขา ก็จะทำให้ลูกเข้าใจมากขึ้นและเป็นการปลูกฝังให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลในอนาคต
3. สอนให้ลูกรู้จักค่าของเงิน การปลูกฝังให้ลูกได้รู้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นไม่ได้หามาได้ง่ายๆ เราควรต้องสอนลูกเสมอว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับเขา เพื่อสอนให้ลูกได้เห็นถึงค่าของเงิน ตัวอย่างเช่น เด็กๆ มักจะเอาของเล่นใหม่ ๆ มาอวดกัน ทำให้ลูกของเราอยากได้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นของที่ราคาค่อนข้างสูง หากเราตามใจลูกทุกครั้ง ก็อาจทำให้เขารู้สึกว่า ได้สิ่งของเหล่านั้นมาง่าย ๆ ไม่รู้จักคุณค่า ฉะนั้นเราควรต้องฝึกให้ลูกมีเหตุผลในการใช้จ่าย และสอนให้เห็นถึงความจำเป็นและเห็นถึงคุณค่าของเงิน
4. ฝึกให้ลูกรู้จักการบริหารเงิน เทคนิคนี้จะ ช่วยให้ลูกของเรารู้จักการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีได้ โดยเราอาจจะเริ่มฝึกด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น เราลองเปลี่ยนจากค่าขนมรายวัน มาป็นรายสัปดาห์แทน แล้วให้เขาได้ลองบริหารเงินให้เพียงพอในแต่ละสัปดาห์ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นเมื่อเริ่มบริหารได้ ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นรายเดือนเพื่อฝึกให้เขาได้บริหารเงินในระยะเวลาที่ยาวมากขึ้น เมื่อเขาเริ่มมีเงินเหลือเก็บ เราควรให้คำชื่นชม เพื่อสร้างกำลังใจและสอนให้เขานำเงินไปฝากธนาคาร เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
5. สอนลูกให้มีความรับผิดชอบและความอดทน นอกจากการให้เหตุผลเมื่อไม่ซื้อของแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการสอนให้ลูกรู้จักเก็บออมเงิน เพื่อซื้อสิ่งของที่เขาอยากได้เอง วิธีการนี้นอกจากลูกจะเห็นค่าของเงินแล้ว ยังเป็นการสอนให้เขารู้จักคุณค่าในสิ่งของเหล่านั้นด้วย เราจึงควรสอนให้เขามีความรับผิดชอบและความอดทน ทั้งในเรื่องการเงินและการใช้ชีวิต รวมถึงหน้าที่ที่พึงกระทำต่อสังคมด้วย ไม่ควรให้เขาเคยชินกับการเอาแต่ร้องขอ และรอคอยการช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียว จะต้องฝึกการเก็บออม และการเริ่มต้นทำอะไรด้วยตัวของเขาเอง เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป
วินัยทางการเงินถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พ่อแม่ทุกคนควรต้องฝึกให้ลูกของเรามีวินัยตั้งแต่เด็ก เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เทคนิคง่ายๆ เหล่านี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสอนให้ลูกของเรา ได้มีวินัยทางการเงินตั้งแต่ยังเล็กๆ เมื่อเติบโตขึ้นเขาจะสามารถบริหารจัดการตนเองได้ และประสบความสำเร็จในการวางแผนทางการเงินอย่างแน่นอน..
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : www.alife.co.th , www.moneyguru.co.th
เรียบเรียง : Thai Credit Micro Economic Development
#ตังค์โตKnowhow