ทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา? โอนเงินผิดบัญชี/ผิดจำนวนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

เทคโนโลยีระบบการชำระเงินที่ทันสมัยทำให้การจ่ายหรือโอนเงินกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ผู้ใช้บริการเองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานเช่นกัน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องโอนเงินผิดบัญชี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เราโอนผิดเอง หรือมีคนโอนผิดมาที่เรา แล้วไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร “สมาคมธนาคารไทย” ขอแบ่งปันวิธีการที่ถูกต้องในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีการโอนเงินผิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโอนที่สาขาของธนาคาร ทางตู้ ATM หรือ Mobile Banking ธนาคารจะไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนเข้าบัญชีต้นทาง เว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนผิดเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีขั้นตอนการดำเนินการที่ควรรู้ดังนี้
1.แจ้งปัญหา – นำส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
• วัน /เวลา จำนวนเงิน ช่องทางการโอน เช่น Mobile Banking
• ใบบันทึกรายการ
• ภาพหน้าจอ / ข้อความแจ้งผลการโอนเงิน
• ชื่อบัญชี/เลขบัญชี
• เลขประจำตัวประชาชน
• เบอร์มือถือที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ของผู้โอน ผู้ที่ต้องการโอนให้ และผู้รับโอนผิด (ถ้ามี)
• เอกสารเพิ่มเติม (ตามที่ธนาคารกำหนด)
• ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี
• สำเนาบัตรประชาชน/หนังสือเดินทาง
• ใบแจ้งความ/บันทึกประจำวันที่ระบุเหตุการณ์
2.ธนาคารรับแจ้งปัญหา และแจ้งระยะเวลาการดำเนินการ
3.ติดต่อผู้รับโอนผิด เพื่อให้ยินยอมคืนเงิน
• กรณีธนาคารเดียวกัน ธนาคารจะติดต่อ ผู้รับโอนผิดโดยตรง
• กรณีต่างธนาคาร ธนาคารจะประสานงานกับธนาคารของผู้รับโอนผิด
4.ธนาคารแจ้งผลการประสาน
• กรณียินยอมคืนเงิน : ธนาคาร จะโอนเงินคืนเข้าบัญชีผู้โอน
• หากกรณีไม่ยอมคืนเงินหรือติดต่อไม่ได้ : ผู้โอนสามารถแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ได้ทันที
• ออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนผิด
• ดำเนินการอายัดบัญชี
• เปิดเผยข้อมูลบัญชีของผู้รับโอนผิดให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อให้ผู้โอนดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
สิ่งที่พึงระวัง คือ
เราไม่ควรโอนเงินกลับเองเพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่จะใช้บัญชีเราเป็นทางผ่านในการโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "บัญชีม้า" ก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพจะขอให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนละธนาคาร คนละชื่อบัญชี โดยอ้างเหตุผลว่าโอนผิดบัญชีไปแล้ว ไหน ๆ จะต้องโอนเงินใหม่ ก็ฝากให้เราช่วยโอนเลยแล้วกัน กลายเป็นว่าเราทำเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ
แต่ถ้าหากมีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราจริงโดยไม่ใช่กลโกงของมิจฉาชีพ แต่เราเลือกที่จะเพิกเฉย หรือนำเงินที่ได้มาไปใช้ เจ้าของเงินก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเราได้เช่นกัน
วิธีการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด คือ
การตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง สิ่งที่ทุกคนจะต้องดู คือ หมายเลขบัญชีหรือหมายเลขพร้อมเพย์ ชื่อบัญชี ชื่อธนาคาร และจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนที่จะกดยืนยันการโอนเงินไป หากเกิดกรณีโอนเงินผิดขึ้นมาจริง ๆ ให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อใครง่าย ๆ จนยอมโอนเงินกลับเอง และควรรีบปรึกษาธนาคารเพื่อให้ธนาคารแนะนำว่าต้องดำเนินการอย่างไรจะดีที่สุด
** ขอขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย **
